วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551

เรื่องราวของกะทิ : การเดินทางไปสู่ความสุข







เมื่อครั้งแรกที่อ่านความสุขของกะทิ พบว่ากะทิเป็นเด็กที่มีความสุขมาก ทั้งที่ความจริงแล้วชีวิตบองกะทิไม่น่าจะมีความสุขขนาดนั้น อาจถึงขั้นอาภัพหรือเศร้าหมองสำหรับเด็กบางคนเลยก็ว่าได้ จนกระทั่งได้อ่านหนังสือเล่มนี้ซ้ำรอบที่ 2, 3 และ4 จึงเห็นว่าเรื่องราวของกะทิแท้จริงเป็นการเดินทาง



ตั้งแต่เริ่มเรื่องกะทิอาศัยอยู่กับตายายที่บ้านริมคลองอย่างเรียบง่าย แล้วการเดินทางก็เริ่มขึ้นเมื่อกะทิไปหาแม่ที่ป่วยและพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านชายทะเลหัวหิน กะทิใช้ชีวิตอยู่กับแม่ และรู้ว่าแม่ทิ้งตนไปเพราะได้บนบานไว้ไม่ให้กะทิมีอันตราย แล้วตนจะไปเข้าใกล้ลูกอีก จนกระทั่งแม่จากกะทิไป ญาติของกะทิ ได้แก่ น้ากันต์ น้าฎาและลุงตอง ได้พากะทิเดินทางไปยังบ้านกลางเมืองซึ่งกะทิได้รับรู้เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับแม่และพ่อของกะทิ ท้ายที่สุดกะทิต้องเลือกว่าจะส่งจดหมายไปหาพ่อหรือไม่ แล้วเลือกแบบไหนจะดีกว่ากัน?



เมื่อกล่าวเช่นนี้แล้วก็ต้องยอมรับว่าฉากมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องโดยจะแบ่งเป็น 3 ฉาก คือ บ้านริมคลอง บ้านชายทะเล และบ้านกลางเมือง



บ้านริมคลองเป็นบ้านของคุณตาทวดของกะทิ เมื่อตาเลิกทำงานแล้วจึงกลับมาอยู่ที่นี่อีกครั้ง ตาและยายดูแล และให้ความรักแก่กะทิอย่างดี เห็ได้จากที่ยายตื่นมาทำกับข้าวให้กะทิด้วยใจ หรือที่คุณตาขี่จักรยานไปส่งกะทิขึ้นรถไปโรงเรียน แม้ว่ามุมองของผู้เล่าเรื่องจะเป็นแบบที่เสนอเรื่องราวเฉย หรือที่เรียกว่า Dramatic point of view แต่ถ้าสังเกตจะเห็นว่ากะทิมีปมอยู่ในใจเรื่องแม่ เห็นได้จากประโยคที่แสดงไว้ก่อนเริ่มบทจะเกี่ยวกับแม่ทุกประโยค อาทิ กะทิรอแม่ทุกวัน หรือ อยากรู้ว่าแม่คิดถึงกะทิบ้างไหมนะ หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่กะทิได้ยิน “เสียงสายฟ้าฟาดเหมือนตามด้วยเสียงคนกรีดร้องปานใจสลายทุกครั้ง” ที่จริงเป็นเสียงของแม่กะทิที่มาจากความทรงจำของกะทิเอง



ต่อมาเมื่อได้เดินทางมาบ้านชายทะเล กะทิร้องไห้และแสดงอาการเสียใจอย่างชัดเจนเมื่อทราบว่าแม่จะต้องจากกะทิไป แต่ที่นั่นกะทิก็ได้เรียนรู้ถึงความรักที่มี่ต่อกันอย่างแน่นแฟ้น ความห่วงใย ที่ทุกคนมีให้กับแม่ของกะทิและตัวกะทิเองด้วย ทุกคนต่างก็ปกปิดความรู้สึกเศร้าหมองต่างๆในใจตน เช่นตกแต่งบ้านให้ดูสดใส หรือ ที่ญาติๆแอบไปร้องไห้อู่ในบ้านเป็นต้น นอกจากนี้กะทิยังได้ทราบเรื่องบางเรื่องของแม่อีกด้วย เช่นแม่มีเหตุผลและปวดร้าวเพียงใดที่ต้องจากลูกมา แม่เป็นคนดี เก่งและเข้มแข็งเด็ดเดียว จนเมื่อแม่ของเสีย กะทิก็ไม่ได้แสดงอาการร้องไห้ฟูมฟายทั้งที่ยังเด็กอยู่เห็นได้ว่ากะทิเข้มแข็งขึ้น



จนสุดท้ายเมื่อกะทิเดินทางไปที่บ้านกลางเมือง กะทิได้รู้จักแม่มากขึ้น ได้รู้พ่อและเรื่องราวของแม่กับพ่อ นอกจากนี้จากการที่กะทิได้พบกับพิงค์ ก็พบว่าแม่ไม่ได้โกรธพ่อเพราะแม่ได้กะทิที่แม่รักมาก



ที่สุดในชีวิตมาและกะทิเองก็ไม่น่าจะโกรธพ่อด้วย และที่สำคัญกะทิยังได้เรียนรู้ว่าทุกคนต่างก็รักและห่วงใยกะทิและพยายามจะให้ความรักแก่กะทิทั้งสิ้น พวกเขาดูแลกะทิอย่างดี เป็นห่วงความรู้สึกของกะทิเรื่องจดหมายและเรื่องพ่อ ความรักนี้เข้ามาเติมเต็มและทดแทนที่กะทิสูญเสียแม่และขาดพ่อได้ อนึ่งจะเห็นว่ากะทิเป็นคนที่นำพาตัวเองไปสู่ชะตากรรม เพราะกะทิมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจด้วยตนเองตลอด ตั้งแต่ เลือกที่จะพบแม่หรือไม่ หรือเลือกที่จะพบพ่อหรือไม่ นี่แสดงให้เห็นว่าทุกคนเคารพการตัดสินใจของกะทิ แต่ด้วยความที่พุทธิภาวะของกะทิพัฒนาขึ้น กะทิจึงคิดถึงคนอื่นเหมือนแม่ ดังข้อความที่ว่า “ความสุขของคนรอบข้าง คือความสุขของเราด้วย” กะทิเลยเลือกจะส่งจดหมายแต่ส่งไปหาพี่ทองแทนเพื่อจะได้ไม่ต้องอธิบายให้ทุกคนฟังเพราะ “บางทีชีวิตก็ไม่มีคำอธิบาย”



การเดินทางของกะทินั้นมีสองเส้นทางที่ขนานกันคือ การเดินทางในความเป็นจริงและการเดินทางทางอารมณ์และความคิด การเดินทางในความจริงกะทิไปถึงที่หมายคือ กลับไปบ้านริมคลอง ส่วนการเดินทางทางอารมณ์และความคิดกะทิก็ได้บรรลุจุดหมายเช่นกันคือได้พัฒนาพุทธิภาวะจน “รู้สึกจริงๆว่าตัวเอง โต ขึ้น” แม้จะมีอะไรเกิดขึ้น ชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไปตามเดิม ความสุของกะทิจึงไม่ได้เกิดจากชีวิตที่มีความสุข หรือเพราะในเรื่องไม่มีตัวละครปรปักษ์มาห่ำหั่นรังแกกะทิ หากแต่เป็นชิวิตที่กะทิได้เรียนรู้ที่จะอยู่อย่างมีความสุขต่างหาก






***ขอวิจารณ์แต่ภาคแรกก่อนนะ

ไม่มีความคิดเห็น: