วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551

ธรรมาธรรมะสงคราม: วรรณคดีอุปนิทัศน์ตามแบบวรรณคดีอังกฤษเรื่องแรกของไทย




บทคัดย่อ
ธรรมาธรรมะสงครามเป็นบทพระราชนิพนธ์เรื่องหนึ่งในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(๒๔๒๓-๒๔๖๘) เมื่อศึกษาตัวบท (Text) พบว่าวรรณคดีเรื่องนี้มีลักษณะตรงกับบทละคร อุปมานิทัศน์ (Allegory) บทละครอุปมานิทัศน์เป็นบทละครสอนศีลธรรมหรือศาสนาโดยใช้สัญลักษณ์ทำให้ตีความ 2 ระดับ คือ ระดับพื้นผิวและระดับลึก ละครอุปมานิทัศน์มีมาแต่สมัยกรีก-โรมันและรุ่งเรืองมากที่ยุคกลาง (Middle age) แต่กลับไม่พบวรรณคดีที่มีลักษณะเป็นวรรณคดีอุปมานิทัศน์ในประวัติวรรณคดีไทย (History of Thai literature) มาก่อนเลย จึงอาจกล่าวได้ว่าธรรมาธรรมะสงครามเป็นวรรณคดีอุปนิทัศน์ตามแบบวรรณคดีอังกฤษเรื่องแรกของไทย

Abstract
Dhamma-Dhamma Songkram is one of King Vajiravudh’s works. After studying the text, its allegorical characteristic is obviously suggested. Allegory is a kind of play in which its elements: characters, settings, events are employed as symbols to express moral or religious idea. Allegory, accordingly, carries 2 meanings which are surface and content. Allegory occurs in Greek-Roman period and fully flourishes in Middle Age. Yet, there occurs no other allegory in history of Thai literature before Dhamma-Dhamma Songkram. Thus, the work should be considered the first allegory of Thailand.

อารัมภบท
เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกันว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าจ้าอยู่หัวทรงเป็นปราชญ์ผู้เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพในสรรพศาสตร์ต่างๆ ในด้านอักษรศาสตร์พระองค์ทรงเป็นทั้งกวี นักแปลและนักวิจารณ์ที่หาผู้เสมอได้ยากโดยมีงานวรรณกรรมพระราชนิพนธ์กว่า ๑,๐๐๐ เรื่องเป็นเครื่องยืนยันถึงพระปรีชาสามารถในพระองค์
ธรรมาธรรมะสงครามเป็นบทพากย์พระราชนิพนธ์เรื่องหนึ่ง พระผู้ทรงพระราชนิพนธ์มีพระราชอรรถาธิบายไว้ในคำนำว่า"เรื่อง "ธรรมาธรรมะสงคราม" นี้ ข้าพเจ้าแต่งขึ้นแต่เมื่อเดือนมกราคม, พ.ศ.๒๔๖๑, เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนามงคลวิเศษ, ซึ่งสมเด็จพระสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแสดงในงานเฉลิมพระชนมพรรษาปีนั้น...."
เมื่อประกอบกับพระราชอรรถาธิบายอื่นๆในตัวบทจึงสรุปได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีแรงบันดาลพระทัยจากการเทศนาของสมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โดยนำเค้าเรื่องมาจากธรรมะชาดก เอกาทสนิบาตและทรงพระราชนิพนธ์ธรรมธรรมะสงครามขึ้นแต่เดือนมกราคมและเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๑ ณ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
ธรรมาธรรมะสงครามเป็นบทพากย์ที่แต่งได้ไพเราะและมีคติสอนใจถึงกับได้รับคัดเลือกให้บรรจุไว้ในแบบเรียนวิชาภาษาไทยระดับมัธยมตอนปลาย เมื่ออ่านธรรมาธรรมะสงครามครั้งแรก ผู้เขียนพบว่าบทพระราชนิพนธ์เรื่องนี้น่าสนใจ เนื่องจากมีเนื้อเรื่องกระชับไม่ยางจนเกินไปแต่กลับมีความลึกซึ้งทั้งด้านกลวิธีที่เน้นการใช้สัญลักษณ์เสียเกือบทั้งหมดทั้ง ชื่อตัวละคร ฉากและเหตุการณ์ในเรื่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดความลึกซึ้งด้านเนื้อหาทำให้ผู้อ่านสามารถตีความเนื้อหาได้ถึง 2 ระดับ คือระดับพื้นผิวและระดับลึก แต่ไม่ว่าจะตีความได้ในระดับใดผู้อ่านก็สามารถเรียนรู้คำสอนซึ่งน่าจะเป็นสาระสำคัญของเรื่องและเป็นสารร่วมที่พบในบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายเรื่อง
แม้ว่าจะมีการใช้เรื่องเล่า(Narrative) ในเชิงเปรียบเทียบและสัญลักษณ์เพื่อการสั่งสอนในวรรณคดีไทยหลายเรื่องเช่น เรื่องนางนกกะเรียน นางนกไส้ นางช้าง และนางนกต้อยตีวิด ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ และ เรื่องของนางมันทารวดี กับ พราหมณ์หนุ่ม 3 คน เรื่องของนางโสมประภา กับการเลือกคู่ครอง และเรื่องของพระเจ้าจันทราวโลก กับรากษสในนิทานเวตาล เป็นต้น แต่เรื่องเล่าเหล่านั้นก็เป็นเพียงนิทานอุปมานิทัศน์ที่สอดแทรกอยู่ในวรรณคดีเท่านั้น ขณะที่ธรรมาธรรมะสงครามเป็นวรรณคดีอุปมาทัศน์ที่เป็นเรื่องหลักและสมบูรณ์ในเอง นอกจากนี้นิทานอุปนิทัศน์อื่นๆก่อนหน้าธรรมมาธรรมะสงครามก็มิได้ใช้องค์ประกอบเกือบทั้งหมดทั้งตัวละคร ฉากและเหตุการณ์เป็นสัญลักษณ์ ธรรมาธรรมสงครามจึงมีคุณลักษณะที่โดเด่นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติวรรณคดีไทย
อนึ่งเมื่อนำความรู้ด้านวรรณคดีอังกฤษมาใช้ประกอบการศึกษาพบว่าวรรณคดีที่มีลักษณะเช่นเดียวกับธรรมาธรรมะสงครามนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมานานแล้วในซีกโลกตะวันตกในนาม "Allegory" คำว่า "Allegory" นี้ราชบัณฑิตยสถานแปลว่า "อุปมานิทัศน์" ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่าธรรมาธรรมะสงครามเป็นวรรณคดีอุปมานิทัศน์ที่มีลักษณะตรงตามบทละคร Allegory ในอังกฤษเรื่องแรกของไทย

ความหมายของ Allegory
พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๕ ให้ความหมายคำว่า "Allegory" ว่า
"Allegory อุปมานิทัศน์ เรื่องที่แต่งเป็นร้องแก้วหรือบทร้อยกรองก็ได้ มีความหมายเป็น ๒ นัย ความหมายแรกเป็นความหมายพื้นผิว ความหมายที่ ๒ เป็นความหมายลึก ความหมายที่ ๒ นี้อาจเกี่ยวกับศีลธรรม ศาสนา การเมือง สังคม หรือการเสียดสี ตัวละครของอุปมานิทัศน์นามธรรม เช่น ความซื่อสัตย์ ความโลภ ความหวัง ความอิจฉาริษยา ความอดทน ที่นำมาสร้างเป็นบุคคลจึงทำให้อุปมานิทัศน์มีลักษณะคล้ายคลึงกับนิทานอุทาหรณ์ และนิทานคติ-ธรรม รูปแบบการแต่งอุปมานิทัศน์อาจเป็นข้อเขียนไม่กำหนดความสั้นยาวหรือเป็นภาพ อุปมานิทัศน์ที่มีชื่อสียงมากที่สุดในภาษาอังกฤษคือเรื่อง The Pilgrim’s Progress (ค.ศ.๑๖๗๘) ของจอห์น บันยัน ซึ่งเป็นอุปมานิทัศน์ทางคริสต์ศาสนาเรื่องความรอด (ของวิญญาณ) ตัวเอกคือ Christian เป็นตัวแทนของมนุษย์ทุกๆคนเขาหนีออกมาจากเมืองแห่งความพินาศและเริ่มการเดินทางแสวงบุญ เขาเดินผ่านบ่อโคลนแห่งความหมดหวัง(Slough of Despair) บ้านแห่งความงาม (House Beautiful) หุบเขาแห่งการเสื่อมศักดิ์ศรี(Valley of Humiliation) หุบเขามรณะ (Valley of the Shadow of Death) งานบันเทิงแห่งความหลงใหลฟุ้งเฟ้อ (Vanity Fair) ปราสาทแห่งความสงสัย (Doubting Castle) ภูเขาหฤหรรษ์(the Delectable Mountain) บิวลาห์ดินแดนแห่งความสุข(the country of Beulah) และในที่สุดก็มาถึงแดนสวรรค์ (the Celestial City) ระหว่างทางเขาพบผู้คนมากมายรวมทั้ง Worldly Wiseman, Faithful, Hopeful, Despair, Apollyon และคนอื่นๆอีกมากมาย....ตัวอย่างอุปมานิทัศน์ ในวรรณกรรมไทย เช่นนางมารทั้ง ๓ คือ ตัณหา ราคา อรดี ที่มารำยั่วพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ "
ขณะที่ Martin Stephen กล่าวไว้ใน English Literature ว่า
"Allegory คือเรื่องราวหรือเรื่องเล่าที่มีความยาวพอสมควร เรื่องเล่านี้มี ๒ นัย คือ เรื่องระดับพื้นผิวและเรื่องระดับลึก Allegory เป็นกลวิธีในการเล่าเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง ทั้งที่ดูเหมือนว่ากำลังเล่าอีกเรื่องหนึ่ง The Pilgrim’s Progress (๑๖๘๔) ของ John Banyan (๑๖๒๘-๘๘) เป็น Allegory ประเภทร้อยแก้วที่โด่งดังมากเรื่องหนึ่ง The Pilgrim’s Progress สร้างแนวคิดทางนามธรรม เช่น ความดีงาม ความชั่วช้าของมนุษย์ให้มีชีวิตในรูปของตัวละครตามแบบกลวิธีการแต่งแบบละคร Allegory ตัวละครเหล่านี้เช่น นายโลกียปัญญา (Mr. Worldly Wiseman), อสูรสิ้นหวัง (Giant Despair), เปี่ยมหวัง(Hopeful), กามราคะ (Lechery), มานะ (Pride), ชาวคริสต์ (Christian) ผู้เดินทางแสวงบุญAllegory เรื่องอื่นๆ ได้แก่ บทกวีนิพนธ์ ‘The Faerie Queene’ ของ Edmund Spenser …และ Roma de le Rose โดย Chaucer ซึ่งเล่าเรื่องราวของชายหนึ่ง ที่พยายามเอาชนะใจหญิงผู้สูงศักดิ์อย่างยืดยาว โดยเปรียบตนกับชายที่พยายามรุกล้ำเข้าไปในอุทยานและเด็ดดอกไม้...."
ส่วนพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ของ Macmillan ให้ความหมายว่า Allegory คือ
"เรื่องเล่า ละคร บทกวีนิพนธ์ หรือรูปภาพซึ่งใช้เหตุการณ์และตัวละครเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อความคิดด้านศีลธรรม ศาสนาหรือการเมือง"
จากข้อมูลเหล่านี้พบว่า Allegory หรืออุปมานิทัศน์ตามแบบวรรณคดีอังกฤษน่าจะหมายถึง เรื่องเล่าที่ใช้องค์ประกอบต่างๆเป็นสัญลักษณ์ทำให้สามารถตีความได้ 2 นัยเพื่อสั่งสอนศีลธรรมจรรยา ศาสนา หรือ เผยแพร่ความคิดทางการเมือง มากกว่านิทานหรือเรื่องเล่าที่เล่าประกอบเพื่อส่งเสริมให้เรื่องหลักให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น เราอาจสรุปได้ว่าอุปมานิทัศน์ตามแบบวรรณคดีอังกฤษซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียก "อุปมานิทัศน์" มีลักษณะ ดังนี้
๑.เป็นเรื่องราวหรือเรื่องเล่า
๒.อุปมานิทัศน์ต้องใช้องค์ประกอบต่างๆ เช่น เหตุการณ์ ตัวละครและฉากเป็นสัญลักษณ์
๓.อุปมานิทัศน์ต้องสื่อความหมายได้ ๒ นัย คือ ระดับพื้นผิวและระดับลึก
๔.อุปมานิทัศน์มีจุดมุ่งหมายเพื่อสั่งสอนศีลธรรม ศาสนาหรือถ่ายทอดแนวคิดทางการเมือง
(อ่านต่อคราวหน้า)

1 ความคิดเห็น:

litschool-principal กล่าวว่า...

น่าสนใจดีนะ ตีพิมพ์ที่ไหนรึยังเอ่ย คุณสบายดีไหม ครูได้รู้ว่าตอนนี้คุณเรียนโทอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ตั้งใจเรียนนะ
อ.นัทธนัย