วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551

เรื่องราวของกะทิ : การเดินทางไปสู่ความสุข







เมื่อครั้งแรกที่อ่านความสุขของกะทิ พบว่ากะทิเป็นเด็กที่มีความสุขมาก ทั้งที่ความจริงแล้วชีวิตบองกะทิไม่น่าจะมีความสุขขนาดนั้น อาจถึงขั้นอาภัพหรือเศร้าหมองสำหรับเด็กบางคนเลยก็ว่าได้ จนกระทั่งได้อ่านหนังสือเล่มนี้ซ้ำรอบที่ 2, 3 และ4 จึงเห็นว่าเรื่องราวของกะทิแท้จริงเป็นการเดินทาง



ตั้งแต่เริ่มเรื่องกะทิอาศัยอยู่กับตายายที่บ้านริมคลองอย่างเรียบง่าย แล้วการเดินทางก็เริ่มขึ้นเมื่อกะทิไปหาแม่ที่ป่วยและพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านชายทะเลหัวหิน กะทิใช้ชีวิตอยู่กับแม่ และรู้ว่าแม่ทิ้งตนไปเพราะได้บนบานไว้ไม่ให้กะทิมีอันตราย แล้วตนจะไปเข้าใกล้ลูกอีก จนกระทั่งแม่จากกะทิไป ญาติของกะทิ ได้แก่ น้ากันต์ น้าฎาและลุงตอง ได้พากะทิเดินทางไปยังบ้านกลางเมืองซึ่งกะทิได้รับรู้เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับแม่และพ่อของกะทิ ท้ายที่สุดกะทิต้องเลือกว่าจะส่งจดหมายไปหาพ่อหรือไม่ แล้วเลือกแบบไหนจะดีกว่ากัน?



เมื่อกล่าวเช่นนี้แล้วก็ต้องยอมรับว่าฉากมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องโดยจะแบ่งเป็น 3 ฉาก คือ บ้านริมคลอง บ้านชายทะเล และบ้านกลางเมือง



บ้านริมคลองเป็นบ้านของคุณตาทวดของกะทิ เมื่อตาเลิกทำงานแล้วจึงกลับมาอยู่ที่นี่อีกครั้ง ตาและยายดูแล และให้ความรักแก่กะทิอย่างดี เห็ได้จากที่ยายตื่นมาทำกับข้าวให้กะทิด้วยใจ หรือที่คุณตาขี่จักรยานไปส่งกะทิขึ้นรถไปโรงเรียน แม้ว่ามุมองของผู้เล่าเรื่องจะเป็นแบบที่เสนอเรื่องราวเฉย หรือที่เรียกว่า Dramatic point of view แต่ถ้าสังเกตจะเห็นว่ากะทิมีปมอยู่ในใจเรื่องแม่ เห็นได้จากประโยคที่แสดงไว้ก่อนเริ่มบทจะเกี่ยวกับแม่ทุกประโยค อาทิ กะทิรอแม่ทุกวัน หรือ อยากรู้ว่าแม่คิดถึงกะทิบ้างไหมนะ หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่กะทิได้ยิน “เสียงสายฟ้าฟาดเหมือนตามด้วยเสียงคนกรีดร้องปานใจสลายทุกครั้ง” ที่จริงเป็นเสียงของแม่กะทิที่มาจากความทรงจำของกะทิเอง



ต่อมาเมื่อได้เดินทางมาบ้านชายทะเล กะทิร้องไห้และแสดงอาการเสียใจอย่างชัดเจนเมื่อทราบว่าแม่จะต้องจากกะทิไป แต่ที่นั่นกะทิก็ได้เรียนรู้ถึงความรักที่มี่ต่อกันอย่างแน่นแฟ้น ความห่วงใย ที่ทุกคนมีให้กับแม่ของกะทิและตัวกะทิเองด้วย ทุกคนต่างก็ปกปิดความรู้สึกเศร้าหมองต่างๆในใจตน เช่นตกแต่งบ้านให้ดูสดใส หรือ ที่ญาติๆแอบไปร้องไห้อู่ในบ้านเป็นต้น นอกจากนี้กะทิยังได้ทราบเรื่องบางเรื่องของแม่อีกด้วย เช่นแม่มีเหตุผลและปวดร้าวเพียงใดที่ต้องจากลูกมา แม่เป็นคนดี เก่งและเข้มแข็งเด็ดเดียว จนเมื่อแม่ของเสีย กะทิก็ไม่ได้แสดงอาการร้องไห้ฟูมฟายทั้งที่ยังเด็กอยู่เห็นได้ว่ากะทิเข้มแข็งขึ้น



จนสุดท้ายเมื่อกะทิเดินทางไปที่บ้านกลางเมือง กะทิได้รู้จักแม่มากขึ้น ได้รู้พ่อและเรื่องราวของแม่กับพ่อ นอกจากนี้จากการที่กะทิได้พบกับพิงค์ ก็พบว่าแม่ไม่ได้โกรธพ่อเพราะแม่ได้กะทิที่แม่รักมาก



ที่สุดในชีวิตมาและกะทิเองก็ไม่น่าจะโกรธพ่อด้วย และที่สำคัญกะทิยังได้เรียนรู้ว่าทุกคนต่างก็รักและห่วงใยกะทิและพยายามจะให้ความรักแก่กะทิทั้งสิ้น พวกเขาดูแลกะทิอย่างดี เป็นห่วงความรู้สึกของกะทิเรื่องจดหมายและเรื่องพ่อ ความรักนี้เข้ามาเติมเต็มและทดแทนที่กะทิสูญเสียแม่และขาดพ่อได้ อนึ่งจะเห็นว่ากะทิเป็นคนที่นำพาตัวเองไปสู่ชะตากรรม เพราะกะทิมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจด้วยตนเองตลอด ตั้งแต่ เลือกที่จะพบแม่หรือไม่ หรือเลือกที่จะพบพ่อหรือไม่ นี่แสดงให้เห็นว่าทุกคนเคารพการตัดสินใจของกะทิ แต่ด้วยความที่พุทธิภาวะของกะทิพัฒนาขึ้น กะทิจึงคิดถึงคนอื่นเหมือนแม่ ดังข้อความที่ว่า “ความสุขของคนรอบข้าง คือความสุขของเราด้วย” กะทิเลยเลือกจะส่งจดหมายแต่ส่งไปหาพี่ทองแทนเพื่อจะได้ไม่ต้องอธิบายให้ทุกคนฟังเพราะ “บางทีชีวิตก็ไม่มีคำอธิบาย”



การเดินทางของกะทินั้นมีสองเส้นทางที่ขนานกันคือ การเดินทางในความเป็นจริงและการเดินทางทางอารมณ์และความคิด การเดินทางในความจริงกะทิไปถึงที่หมายคือ กลับไปบ้านริมคลอง ส่วนการเดินทางทางอารมณ์และความคิดกะทิก็ได้บรรลุจุดหมายเช่นกันคือได้พัฒนาพุทธิภาวะจน “รู้สึกจริงๆว่าตัวเอง โต ขึ้น” แม้จะมีอะไรเกิดขึ้น ชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไปตามเดิม ความสุของกะทิจึงไม่ได้เกิดจากชีวิตที่มีความสุข หรือเพราะในเรื่องไม่มีตัวละครปรปักษ์มาห่ำหั่นรังแกกะทิ หากแต่เป็นชิวิตที่กะทิได้เรียนรู้ที่จะอยู่อย่างมีความสุขต่างหาก






***ขอวิจารณ์แต่ภาคแรกก่อนนะ

วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2551

ธรรมาธรรมะสงคราม: วรรณคดีอุปนิทัศน์ตามแบบวรรณคดีอังกฤษเรื่องแรกของไทย 2




เนื้อเรื่องธรรมาธรรมะสงคราม
ธรรมาธรรมะสงครามเป็นเรื่องสงครามระหว่างเทวดา ๒ ตน คือธรรมเทวบุตรและอธรรมเทวบุตร
เรื่องเกิดขึ้น ณ วันเพ็ญที่เป็นวันอุโบสถ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๕๔๐: ๔๔) เมื่อธรรมเทวบุตรซึ่งเป็นตัวละครเอก (Protagonist) เสด็จประพาสโลกมนุษย์เพื่อสั่งสอนธรรมะ ขณะเดียวกันอธรรมะเทวบุตรซึ่งเป็นตัวละครปรปักษ์ (Antagonist) ได้เสด็จสู่โลกเพื่อชักชวน ข่มขู่ให้มนุษย์ทำชั่วเช่นกัน ทั้งสองบังเอิญพบกัน อธรรมเทวบุตรใช้กำลังความรุนแรงบังคับให้ธรรมเทวบุตรหลีกทางให้ แต่เทวบุตรไม่ยอมจึงเกิดการต่อสู้กันเป็นสามารถ แม้อธรรมเทวบุตรจะมีกำลังมากและเป็นฝ่ายได้เปรียบแต่ท้ายที่สุดอธรรมเทวบุตรก็หน้ามืดตกจากรถทรงลงสู่พื้นดินและเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ธรรมเทวบุตรจึงให้โอวาทและประทานพรแก่มนุษย์โลกก่อนกลับสู่สรวงสวรรค์


ธรรมาธรรมะสงครามมีลักษณะเป็นอุปมานิทัศน์
ตามที่สรุปไว้ข้างต้นว่าอุปมานิทัศน์ควรมีลักษณะ ๔ ประการและธรรมาธรรมะสงครามก็มีลักษณะเหล่านั้นประกอบอยู่ครบถ้วน
ประการแรกธรรมาธรรมะสงครามเป็นเรื่องเล่า (Narrative) อันประกอบด้วยตัวละคร (character) ฉาก (setting) และเหตุการณ์ (events)
ประการที่สององค์ประกอบต่างๆในธรรมาธรรมะสงครามล้วนเป็นสัญลักษณ์ คือ ธรรมเทวบุตรเป็นสัญลักษณ์ของความดี เพราะธรรมะหมายถึงคุณความดี ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของธรรมเทวบุตร ดังที่กล่าวไว้ว่า“....ปองธรรมะบ่ล่วง ลุอำนาจอกุศล....” และ “….ทรงเครื่องก็ล้วนขาว สวิภูษณาสม/สำแดงสุโรดม สุจริต ณ ไตรทวาร....” ส่วนอธรรมเทวบุตรก็เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วเพราะในภาษาบาลี-สันสฤต “อ” เป็นคำเติมหน้า หมายถึง ไม่ หรือไม่มี ดังนั้นเมื่อนำ “อ” มาประกอบกับ “ธรรม” แปลว่า ไร้ซึ่งคุณความดีก็คือความชั่วซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของอธรรมะเทวบุตรที่ว่า “ปางนั้นอธรรมะ เทวบุตรผู้ใจพาล” และ “….ล้วนแต่พาลประดุจกัน/ โทโสและโมหันธ์ บ่มิพึงบำเพ็ญบุญ/ เห็นใครน้ำใจซื่อ สุจริตะการุญ/ เธอก็มักหันหุนเพราะพิโรธและริษยา” เทวดาทั้งสองนี้เดินทางมาสู่ชมพูทวีปและพบกับมนุษย์ ชมพูทวีปในที่นี้น่าจะหมายถึงโลกทั้งโลกมากกว่าดินแดนแถบเอเชียใต้ดังที่เข้าใจกันในปัจจุบันเพราะใบตัวบทบางตอนก็เรียกชมพูทวีปว่า “โลก” และจากไตรภูมิกถา ภาคมนุสสภูมิเราจะพบว่าทางพระพุทธศาสนาเชื่อเรื่องทวีปทั้ง ๔ ได้แก่ อุตรกุรุทวีปหรืออุตรกุรูทวีป บุพวิเทหทวีป ชมพูทวีป และอมรโคยานทวีป และชมพูทวีปก็คือโลกที่เราอาศัยอยู่นี้เอง ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าชมพูทวีปคือโลกมนุษย์ส่วนมนุษย์ที่เทวบุตรทั้งสองพบนั้นก็คือตัวแทนของมวลมนุษยชาติทั้งหมด โดยอ้างอิงจากข้อความที่ว่า “กษัตริย์พราหมณ์แพศย์ศูทรทั้งหลาย ต่างมาเรียงราย/ ระยอบบังคมเทวัญ” ตามคติพราหมณ์ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อของคนในแถบเอเชียใต้แต่โบราณ มนุษย์มีอยู่ ๔ วรรณะคือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์และศูทร ดังนั้นมนุษย์ที่อยู่ในเรื่องก็คือตัวแทนของมนุษย์วรรณะต่างๆนั่นเอง
ด้วยเหตุที่องค์ประกอบต่างๆในธรรมาธรรมะสงครามเป็นสัญลักษณ์ จึงทำให้ผู้อ่านตีความได้ ๒ นัย คือ ระดับพื้นผิวและระดับลึกซึ่งเป็นลักษณะข้อที่ ๓ ของอุปมานิทัศน์ ในระดับพื้นผิว ธรรมาธรรมสงครามเป็นเรื่องราวการต่อสู่ของเทวดา ๒ ตน ตนหนึ่งเป็นพระเอก อีกตนหนึ่งเป็นตัวโกง สุดท้ายพระเอกชนะตัวโกงได้อย่างหวุดหวิดและให้โอวาทประสาทพรก่อนจะกลับสวรรค์ แต่ในระคับลึกเราอาจตีความได้ว่าความดีกับความชั่วที่มีอำนาจพอกันเนื่องจากทั้งสองเป็นเทวดาในชั้นกามาพจรเหมือนกัน สามารถเข้ามาสู่โลกและเข้ามาถึงตัวมนุษย์ได้ทั้งคู่โลกของเราจึงมีทั้งความดีและความชั่วปะปนกันอยู่ เราซึ่งเป็นมนุษย์จึงต้องเลือกที่จะเชื่อฟังธรรมเทวบุตรหรืออธรรมะเทวบุตรอย่างไรก็ดรเรื่องพยายามชี้นำให้เราเข้ารีตของธรรมเทวบุตร ให้เราต่อสู้กับความชั่วอย่าได้ยอมให้แก่ความชั่ว แม้ความชั่วนั้นจะน่ากลัวหรือให้กำลังขู่เข็ญเช่นที่ธรรมเทวบุตรไม่ยอมให้ทางแก่อธรรมะเทวบุตร เพราะท้ายที่สุดแม้อธรรมะเทวบุตรจะเป็นฝ่ายได้เปรียบคือคนชั่วอาจมีอำนาจเหนือกว่าคนดีในบางครั้ง ก็ต้องพ่ายแพ้ย่อยยับด้วยอำนาจแห่งกรรมนั่นเอง อนึ่งการสั่งสอนให้เป็นคนดีผ่านสารที่ว่า “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” และ “ธรรมะและอธรรมย่อมให้ผลที่ต่างกัน” สามารถเชื่อมโยงกับลักษณะของอุปมานิทัศน์ข้อ ๔ คือเป็นการสั่งสอนศีลธรรมจรรยาหรือศาสนาได้อีกด้วย
ด้วยองค์ประกอบทั้ง ๔ นี้ทำให้ธรรมาธรรมะสงครามเป็นวรรณคดีอุปมานิทัศน์อย่างชัดเจน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสอนอะไรผ่านธรรมาธรรมะสงคราม
แม้ว่าธรรมาธรรมะสงครามจะสื่อความได้ 2 นัยแต่ไม่ว่าจะตีความในระดับพื้นผิวหรือระดับลึก ธรรมาธรรมะสงครามก็สามารถนำไปสู่คำสอนที่เหมือนกัน คำสอนเหล่านี้เป็นคำสอนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระทัยที่จะสั่งสอนผู้อ่าน
ในธรรมาธรรมะสงครามพระผู้ทรงพระราชนิพนธ์ได้แสดงภาพลักษณ์ของคนดีผ่านธรรมเทวบุตรและคนชั่วผ่านธรรมะเทวบุตรอย่างชัดเจน
ลักษณะของคนดีจากลักษณะของธรรมเทวบุตร
๑. เป็นผู้ใฝ่ธรรมและไม่ทำชั่วดังที่ว่า “ครองทิพยพิมาน บริวารือมรปวง/ ปองธรรมบ่ล่วง ลุอำนาจอกุศล”
๒.เป็มผู้มีความเมตตา กรุณาและปรานี ดังที่ว่า “เมตตาการุญรัก ษพิทักษ์ภูวดล/ ปรานีนิกรชน ดุจดั่งปิโยรส”
๓.จากข้อความที่ว่า “ทรงเครื่องก็ล้วนขาว สวิภูษณาสม/ สำแดงสุโรดม สุจริต ณ ไตรทวาร” จะเห็นว่าธรรมเทวบุตรทรงเครื่องสีขาว สีขาว น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของความดีและความบริสุทธิ์ เมื่อพิจารณาคู่กับข้อความที่ว่า “สุจริต ณ ไตรทวาร” ซึ่งหมายถึงประพฤติชอบทั้งกาย วาจาและใจก็จะตีความได้ว่า ความดีทั้งสามทางนั้นเป็นภูษาที่ห่อหุ้มเทวบุตรนั้นไว้
ลักษณะของคนชั่วจากลักษณะของอธรรมะเทวบุตร
เป็นผู้มีโทสจริต
เป็นผู้มีโมหะจริต
ไม่ใฝ่ธรรม
มีใจพาลดังที่กล่าวว่า “ปางนั้นอธรรมะ เทวบุตรผู้ใจพาล” หรือจากที่ว่า “เห็นใครน้ำใจซื่อ สุจริตะการุญ/ เธอมักจะหันหุน เพราะพิโรธและริษยา”
นอกจากลักษณะของเทวบุตรทั้งสองแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังแสดงโอวาทผ่านปากของเทวบุตรทั้งสองดังนี้
ธรรมะจากปากธรรมเทวบุตร
“ดูก่อนนิกรชน อกุศลบทกรรม
ทั้งสิบประการจำ และละเว้นอย่าเห็นดี
การฆ่าประดาสัตว์ ฤประโยชน์บ่พึงมี
อันว่าดวงชีวี ย่อมเป็นสิ่งที่ควรถนอม
ถือเอาซึ่งทรัพย์สิน อันเจ้าของมิยินยอมเ
ขานั้นเสียดายย่อม จิตตะขึ้งเป็นหนักหนา
การล่วงประเวณี ณ บุตรและภรรยา
ของชายผู้อื่นลา- มกกิจบ่บังควร
กล่าวปดและลดเลี้ยว พจนามิรู้สงวน
ย่อมจะเป็นสิ่งควร นรชังเป็นพ้นไป
ส่อเสียดเพราะเกลียดชัง บ่มิยังประโยชน์ใด
เสื่อมยศและลดไม- ตรีระหว่างคณาสลาย
พูดหยาบกระทบคน ก็ต้องทนซึ่งหยาบคาย
เจรจากับเขาร้าย ฤ ว่าเขาจะตอบดี
พูดจาที่เพ้อเจ้อ วจะสาระบ่มี
ทำตนให้เป็นที่ นรชนเขานินทา
มุ่งใจและไฝ่ทรัพย์ ยะด้วยโลภเจตนา
ทำให้ผู้อื่นพา กันตำหนิมิรู้หาย
อีกความพยาบาท มนะมุ่งจำนงร้าย
ก่อเวรบ่รู้วาย ฤจะพ้นซึ่งเวรา
เชื่อผิดและเห็นผิด สิจะนิจจะเสื่อมพา
เศร้าหมองมิผ่องผา สุกะรื่นฤดีสบาย
ละสิ่งอกุศล สิกมลจะพึงหมาย
เหมาะยิ่งทั้งหญิงชาย สุจริต ณ ไตรทวาร
จงมุ่งบำเพ็ญมา ตุปิตุปัฏฐานการ
บำรุงบิดามาร- ดรให้เสวยสุข
ใครทำฉะนี้ไซร้ ก็จะได้นิราศทุกข์
เนานานสราญสุข และจะได้คระไลสวรรค์
ยศใหญ่จักมาถึง กิตติพึงจักตามทัน
เป็นนิจจะนิรัน- ดรย่อมจะหรรษาฯ”
จากข้อความที่ยกมาสรุปเป็นคำสอนได้ดังนี้
ไม่ควรฆ่าสัตว์ทั้งหลาย
ไม่ควรเอาของคนอื่นมาเป็นของตน
ไม่ควรกระทำผิดต่อลูกและภรรยาผู้อื่น
ไม่ควรพูดปด
ไม่ควรพูดส่อเสียด
ไม่ควรพูดคำหยาบ กระทบกระเทียบผู้อื่น
ไม่ควรพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ
ไม่ควรโลภในทรัพย์สินของผู้อื่น
ควรละความพยาบาท
เชื่อและเห็นในสิ่งที่ชอบที่ควร
ควรละสิ่งชั่วทั้งกาย วาจาและใจ
ควรบำรุงดูแลบิดามารดา
หลังจากให้โอวาทแล้วธรรมเทวบุตรยังเสนอผลดีอันเกิดจากการปฏิบัติตามโอวาทที่กล่าวมาแล้ว ดังนี้
จะหมดทุกข์
จะมีความสุขสำราญ
จะได้ขึ้นสวรรค์
จะมียศมีเกียรติ
จะมีความสุขอยู่เป็นนิรันดร
อธรรมะจากปากอธรรมะเทวบุตร
“ดูราประชาราษฎร์ นรชาตินิกรชน
จงนึกถึงฐานตน ว่าตกต่ำอยู่ปานใด
ไม่สู้อมรแมน ฤ ว่าแม้นปีศาจได้
ฝูงสัตว์ ณ กลางไพร ก็ยังเก่งกว่าฝูงคน
ทั้งนี้เพราะขี้ขลาด บ่มิอาจจะช่วยตน
ต่างมัวแต่กลัวชน จะตำหนิและนินทา
ผู้ใฝ่ซึ่งอำนาจ ก็ต้องอาจและหาญกล้า
ใครขวาง ณ มรรคา ก็ต้องปองประหารพลัน
อยากมี ณ ทรัพย์สิ่ง จะมานิ่งอยู่เฉย
ฉะนั้นเมื่อใดจะได้ทัน- มนะมุ่งและปราถนา
กำลังอยู่กับใคร สิก็ใช้กำลังคร่า
ใครอ่อนก้ปรา- ชิตะแน่มิสงสัย
สตรีผู้มีโฉม ศุภลักษณาไซร้
ควรถือว่ามีไว้ เป็นสมบัติ ณ กลางเมือง
ใครเขลาควรเอาเปรียบ และมุสาประดิษฐ์เรื่อง
ลวงล่อบ่ต้องเปลือง ธนะหากำไรงาม
เมื่อเห็นซึ่งโอกาส ผู้ฉลาดพยายาม
ส่อเสียดและใส่ความ และประโยชน์ ณ ถึงตน
ใครท้วงและทักว่า ก็จงด่าให้เสียงอึงเ
ขานั้นสิแน่จึ่ง จะขยาดและกลัวเรา
พูดเล่นไม่เป็นสา- ระสำหรับจะแก้เหงา
กระทบกระเทียบเขา ก็สนุกสนานดี
ใครจนจะทนยาก และลำบากอยู่ใยมี
คิดปองซึ่งของดี ณ ผู้อื่นอันเก็บงำ
ใครทำให้ขัดใจ สิก็ควรจะจดจำ
ไว้หาโอกาสทำ ทุษะบ้างเพื่อสาใจ
คำสอนของอาจารย์ ก็บุราณะเกินสมัย
จะนั่งไยดีไย จ งประพฤติตามจิตดู
บิดรและมารดา ก็ชราหนักหนาอยู่
เลี้ยงไว้ทำไมดู นับจะเปลืองมิควรการ
เขาให้กำเนิดเรา ก็มิใช่เช่นให้ทาน
กฎธรรมดาท่าน ว่าเป็นของไม่อัศจรรย์
มามัวแต่กลัวบาป ก็จะอยู่ทำไมกัน
อยากสุขสนุกนัน- ทิก็ต้องดำริแสวง
ใครมีกำลังอ่อน ก็ต้องแพ้ผู้มีแรง
ใครเดชะสำแดง ก็จะสมอารมณ์ปอง”
จากข้อความที่ยกมา จะเห็นโอวาทของอธรรมะเทวบุตร ดังนี้
จงอย่ากลัวคำตำหนิและนินทา
จงใช้กำลังเพื่อให้ได้ซึ่งอำนาจ
จงใช้กำลังทำลายคนที่อ่อนแอกว่า
จงถือว่าหญิงงามเป็นสมบัติร่วมของสาธารณชน
จงฉ้อโกงเอาเปรียบและพูดปดเพื่อให้ได้ผลประโยชน์
จงพูดส่อเสียดและใส่ความคนอื่นเพื่อประโยชน์ส่วนตน
จงถือความคิดของตนเป็นใหญ่และอย่าได้รับฟังความคิดผู้อื่น
จงใฝ่ทรัพย์ของผู้อื่น
จงมีจิตผูกพยาบาท
อย่าเชื่อฟังคำสอนของครูอาจารย์เพราะคำสอนนั้นเป็นสิ่งล้าสมัย จงทำสิ่งต่างๆตามอำเภอใจ
ไม่ควรเลี้ยงดูบิดามารดา
อย่ากลัวบาปกรรม
ท้ายที่สุดอธรรมเทวบุตรก็ยังโฆษณาให้มนุษย์ไม่ต้องเกรงกลัวบาปและให้ใช้กำลังความรุนแรงข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่าแล้วจะสมความปรารถนา
เทวดาทั้งสองต่างก็เสนอแนวทางปฏิบัติตามแบบของตนและเสนอผลดีจากการ”เข้ารีต”ของตนซึ่งป็นสารที่นำเสอนในเนื้อหาโดยตรงแต่สุดท้าย ผู้อ่านก็ได้เรียนรู้จากชะตากรรมของอธรรมะเทวบุตรซึ่งเป็นสารที่สื่อโดยนัยว่า “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” ในที่สุดและความดีกับความชั่วย่อมให้ผลที่ต่างกัน ความดีย่อมให้ศิริและชัยชนะ ขณะที่อธรรมย่อมนำไปสู่ความปราชัย พินาศย่อยยับ
ปัจฉิมบท
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ วงวรรณกรรมไทยเฟื่องฟูมากและเกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นมากเช่นกัน เช่น นวนิยายเรื่องแรกคือ ความพยาบาทและเรื่องสั้นเรื่องแรกคือ สนุกนึกดิ์ เป็นต้น
ธรรมาธรรมะสงครามก็เป็นวรรณกรรมอุปมานิทัศน์ที่สอดคล้องกับบทละคร Allegory ของอังกฤษที่มีขึ้นในสมัยนี้
อนึ่งจากการศึกษาบทพระราชนิพนธ์อื่นๆประกอบพบว่าการสั่งสอนใจและให้โอวาทเป็นลักษณะร่วมของบทพระราชนิพนธ์ทุกเรื่อง และจากพระราชอรรถาธิบายในคำนำที่ว่า
“ข้าพเจ้าหวังใจว่าหลักธรรมอันประกอบเรื่องธรรมาธรรมะสงครามนี้จะพอเป็นเครื่องเตือนใจผู้ใฝ่ดีให้รำพึงถึงพุทธะภาษิตว่า:-
“น หิ ธมฺโม อธมฺโม จ อุโภ สพวิภาคิโน
อธมฺโม นิรยํ เนติ ธมฺโม ปาเปติสุคติ”
ธรรมกับอธรรมให้ผลหาเสมอกันไม่ว อธรรมย่อมจะนำชนไปสู่นรก, แต่ธรรมย่อมจักนำชนให้ข้ามพ้นบาปไปสู่สุคติ”
ธรรมาธรรมะสงครามจึงช่วยเน้นย้ำถึงพระราชเจตนารมณ์ที่จะทรงอบรมสั่งสอนพสกนิกรของพระองค์ ผ่านบทพระราชนิพนธ์ต่างๆทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรองเพื่อให้ประชาชนเป็นคนดี มีคุณธรรมเพื่อความสุขสวัสดิ์ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคมรวมถึงประเทศชาติต่อไป


หนังสืออ้างอิง
"นิทานเวตาล." วิกิพีเดีย, สารานุกรมเสรี. 14 พ.ค. 2007, 21:38 UTC. 29 ก.พ. 2008, 00:51 <http://th.wikipedia.org/w/index.php?title=นิทานเวตาล&oldid=554051>.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ.บทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เรื่อง ธรรมาธรรมะสงคราม มัทนะพาธา และท้าวแสนปม.สงขลา: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, ๒๕๔๐.
ราชบัณฑิตยสถาน.พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.กรุงเทพมหานคร: อรุณการพิมพ์, ๒๕๔๕.
ศิลปากร,กรม.นางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์.พิมพ์ครั้งที่ 14. พระนคร: ศิลปาบรรณาคาร, 2513
Macmillan English dictionary for advanced learners. Oxford: Macmillan Education,2002
Stephen, Martin.English literature : student guide/Martin Stephen.2nd ed.London ; New York: Longman,1991

วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551

ธรรมาธรรมะสงคราม: วรรณคดีอุปนิทัศน์ตามแบบวรรณคดีอังกฤษเรื่องแรกของไทย




บทคัดย่อ
ธรรมาธรรมะสงครามเป็นบทพระราชนิพนธ์เรื่องหนึ่งในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(๒๔๒๓-๒๔๖๘) เมื่อศึกษาตัวบท (Text) พบว่าวรรณคดีเรื่องนี้มีลักษณะตรงกับบทละคร อุปมานิทัศน์ (Allegory) บทละครอุปมานิทัศน์เป็นบทละครสอนศีลธรรมหรือศาสนาโดยใช้สัญลักษณ์ทำให้ตีความ 2 ระดับ คือ ระดับพื้นผิวและระดับลึก ละครอุปมานิทัศน์มีมาแต่สมัยกรีก-โรมันและรุ่งเรืองมากที่ยุคกลาง (Middle age) แต่กลับไม่พบวรรณคดีที่มีลักษณะเป็นวรรณคดีอุปมานิทัศน์ในประวัติวรรณคดีไทย (History of Thai literature) มาก่อนเลย จึงอาจกล่าวได้ว่าธรรมาธรรมะสงครามเป็นวรรณคดีอุปนิทัศน์ตามแบบวรรณคดีอังกฤษเรื่องแรกของไทย

Abstract
Dhamma-Dhamma Songkram is one of King Vajiravudh’s works. After studying the text, its allegorical characteristic is obviously suggested. Allegory is a kind of play in which its elements: characters, settings, events are employed as symbols to express moral or religious idea. Allegory, accordingly, carries 2 meanings which are surface and content. Allegory occurs in Greek-Roman period and fully flourishes in Middle Age. Yet, there occurs no other allegory in history of Thai literature before Dhamma-Dhamma Songkram. Thus, the work should be considered the first allegory of Thailand.

อารัมภบท
เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกันว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าจ้าอยู่หัวทรงเป็นปราชญ์ผู้เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพในสรรพศาสตร์ต่างๆ ในด้านอักษรศาสตร์พระองค์ทรงเป็นทั้งกวี นักแปลและนักวิจารณ์ที่หาผู้เสมอได้ยากโดยมีงานวรรณกรรมพระราชนิพนธ์กว่า ๑,๐๐๐ เรื่องเป็นเครื่องยืนยันถึงพระปรีชาสามารถในพระองค์
ธรรมาธรรมะสงครามเป็นบทพากย์พระราชนิพนธ์เรื่องหนึ่ง พระผู้ทรงพระราชนิพนธ์มีพระราชอรรถาธิบายไว้ในคำนำว่า"เรื่อง "ธรรมาธรรมะสงคราม" นี้ ข้าพเจ้าแต่งขึ้นแต่เมื่อเดือนมกราคม, พ.ศ.๒๔๖๑, เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนามงคลวิเศษ, ซึ่งสมเด็จพระสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแสดงในงานเฉลิมพระชนมพรรษาปีนั้น...."
เมื่อประกอบกับพระราชอรรถาธิบายอื่นๆในตัวบทจึงสรุปได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีแรงบันดาลพระทัยจากการเทศนาของสมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โดยนำเค้าเรื่องมาจากธรรมะชาดก เอกาทสนิบาตและทรงพระราชนิพนธ์ธรรมธรรมะสงครามขึ้นแต่เดือนมกราคมและเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๑ ณ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
ธรรมาธรรมะสงครามเป็นบทพากย์ที่แต่งได้ไพเราะและมีคติสอนใจถึงกับได้รับคัดเลือกให้บรรจุไว้ในแบบเรียนวิชาภาษาไทยระดับมัธยมตอนปลาย เมื่ออ่านธรรมาธรรมะสงครามครั้งแรก ผู้เขียนพบว่าบทพระราชนิพนธ์เรื่องนี้น่าสนใจ เนื่องจากมีเนื้อเรื่องกระชับไม่ยางจนเกินไปแต่กลับมีความลึกซึ้งทั้งด้านกลวิธีที่เน้นการใช้สัญลักษณ์เสียเกือบทั้งหมดทั้ง ชื่อตัวละคร ฉากและเหตุการณ์ในเรื่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดความลึกซึ้งด้านเนื้อหาทำให้ผู้อ่านสามารถตีความเนื้อหาได้ถึง 2 ระดับ คือระดับพื้นผิวและระดับลึก แต่ไม่ว่าจะตีความได้ในระดับใดผู้อ่านก็สามารถเรียนรู้คำสอนซึ่งน่าจะเป็นสาระสำคัญของเรื่องและเป็นสารร่วมที่พบในบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายเรื่อง
แม้ว่าจะมีการใช้เรื่องเล่า(Narrative) ในเชิงเปรียบเทียบและสัญลักษณ์เพื่อการสั่งสอนในวรรณคดีไทยหลายเรื่องเช่น เรื่องนางนกกะเรียน นางนกไส้ นางช้าง และนางนกต้อยตีวิด ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ และ เรื่องของนางมันทารวดี กับ พราหมณ์หนุ่ม 3 คน เรื่องของนางโสมประภา กับการเลือกคู่ครอง และเรื่องของพระเจ้าจันทราวโลก กับรากษสในนิทานเวตาล เป็นต้น แต่เรื่องเล่าเหล่านั้นก็เป็นเพียงนิทานอุปมานิทัศน์ที่สอดแทรกอยู่ในวรรณคดีเท่านั้น ขณะที่ธรรมาธรรมะสงครามเป็นวรรณคดีอุปมาทัศน์ที่เป็นเรื่องหลักและสมบูรณ์ในเอง นอกจากนี้นิทานอุปนิทัศน์อื่นๆก่อนหน้าธรรมมาธรรมะสงครามก็มิได้ใช้องค์ประกอบเกือบทั้งหมดทั้งตัวละคร ฉากและเหตุการณ์เป็นสัญลักษณ์ ธรรมาธรรมสงครามจึงมีคุณลักษณะที่โดเด่นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติวรรณคดีไทย
อนึ่งเมื่อนำความรู้ด้านวรรณคดีอังกฤษมาใช้ประกอบการศึกษาพบว่าวรรณคดีที่มีลักษณะเช่นเดียวกับธรรมาธรรมะสงครามนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมานานแล้วในซีกโลกตะวันตกในนาม "Allegory" คำว่า "Allegory" นี้ราชบัณฑิตยสถานแปลว่า "อุปมานิทัศน์" ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่าธรรมาธรรมะสงครามเป็นวรรณคดีอุปมานิทัศน์ที่มีลักษณะตรงตามบทละคร Allegory ในอังกฤษเรื่องแรกของไทย

ความหมายของ Allegory
พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๕ ให้ความหมายคำว่า "Allegory" ว่า
"Allegory อุปมานิทัศน์ เรื่องที่แต่งเป็นร้องแก้วหรือบทร้อยกรองก็ได้ มีความหมายเป็น ๒ นัย ความหมายแรกเป็นความหมายพื้นผิว ความหมายที่ ๒ เป็นความหมายลึก ความหมายที่ ๒ นี้อาจเกี่ยวกับศีลธรรม ศาสนา การเมือง สังคม หรือการเสียดสี ตัวละครของอุปมานิทัศน์นามธรรม เช่น ความซื่อสัตย์ ความโลภ ความหวัง ความอิจฉาริษยา ความอดทน ที่นำมาสร้างเป็นบุคคลจึงทำให้อุปมานิทัศน์มีลักษณะคล้ายคลึงกับนิทานอุทาหรณ์ และนิทานคติ-ธรรม รูปแบบการแต่งอุปมานิทัศน์อาจเป็นข้อเขียนไม่กำหนดความสั้นยาวหรือเป็นภาพ อุปมานิทัศน์ที่มีชื่อสียงมากที่สุดในภาษาอังกฤษคือเรื่อง The Pilgrim’s Progress (ค.ศ.๑๖๗๘) ของจอห์น บันยัน ซึ่งเป็นอุปมานิทัศน์ทางคริสต์ศาสนาเรื่องความรอด (ของวิญญาณ) ตัวเอกคือ Christian เป็นตัวแทนของมนุษย์ทุกๆคนเขาหนีออกมาจากเมืองแห่งความพินาศและเริ่มการเดินทางแสวงบุญ เขาเดินผ่านบ่อโคลนแห่งความหมดหวัง(Slough of Despair) บ้านแห่งความงาม (House Beautiful) หุบเขาแห่งการเสื่อมศักดิ์ศรี(Valley of Humiliation) หุบเขามรณะ (Valley of the Shadow of Death) งานบันเทิงแห่งความหลงใหลฟุ้งเฟ้อ (Vanity Fair) ปราสาทแห่งความสงสัย (Doubting Castle) ภูเขาหฤหรรษ์(the Delectable Mountain) บิวลาห์ดินแดนแห่งความสุข(the country of Beulah) และในที่สุดก็มาถึงแดนสวรรค์ (the Celestial City) ระหว่างทางเขาพบผู้คนมากมายรวมทั้ง Worldly Wiseman, Faithful, Hopeful, Despair, Apollyon และคนอื่นๆอีกมากมาย....ตัวอย่างอุปมานิทัศน์ ในวรรณกรรมไทย เช่นนางมารทั้ง ๓ คือ ตัณหา ราคา อรดี ที่มารำยั่วพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ "
ขณะที่ Martin Stephen กล่าวไว้ใน English Literature ว่า
"Allegory คือเรื่องราวหรือเรื่องเล่าที่มีความยาวพอสมควร เรื่องเล่านี้มี ๒ นัย คือ เรื่องระดับพื้นผิวและเรื่องระดับลึก Allegory เป็นกลวิธีในการเล่าเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง ทั้งที่ดูเหมือนว่ากำลังเล่าอีกเรื่องหนึ่ง The Pilgrim’s Progress (๑๖๘๔) ของ John Banyan (๑๖๒๘-๘๘) เป็น Allegory ประเภทร้อยแก้วที่โด่งดังมากเรื่องหนึ่ง The Pilgrim’s Progress สร้างแนวคิดทางนามธรรม เช่น ความดีงาม ความชั่วช้าของมนุษย์ให้มีชีวิตในรูปของตัวละครตามแบบกลวิธีการแต่งแบบละคร Allegory ตัวละครเหล่านี้เช่น นายโลกียปัญญา (Mr. Worldly Wiseman), อสูรสิ้นหวัง (Giant Despair), เปี่ยมหวัง(Hopeful), กามราคะ (Lechery), มานะ (Pride), ชาวคริสต์ (Christian) ผู้เดินทางแสวงบุญAllegory เรื่องอื่นๆ ได้แก่ บทกวีนิพนธ์ ‘The Faerie Queene’ ของ Edmund Spenser …และ Roma de le Rose โดย Chaucer ซึ่งเล่าเรื่องราวของชายหนึ่ง ที่พยายามเอาชนะใจหญิงผู้สูงศักดิ์อย่างยืดยาว โดยเปรียบตนกับชายที่พยายามรุกล้ำเข้าไปในอุทยานและเด็ดดอกไม้...."
ส่วนพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ของ Macmillan ให้ความหมายว่า Allegory คือ
"เรื่องเล่า ละคร บทกวีนิพนธ์ หรือรูปภาพซึ่งใช้เหตุการณ์และตัวละครเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อความคิดด้านศีลธรรม ศาสนาหรือการเมือง"
จากข้อมูลเหล่านี้พบว่า Allegory หรืออุปมานิทัศน์ตามแบบวรรณคดีอังกฤษน่าจะหมายถึง เรื่องเล่าที่ใช้องค์ประกอบต่างๆเป็นสัญลักษณ์ทำให้สามารถตีความได้ 2 นัยเพื่อสั่งสอนศีลธรรมจรรยา ศาสนา หรือ เผยแพร่ความคิดทางการเมือง มากกว่านิทานหรือเรื่องเล่าที่เล่าประกอบเพื่อส่งเสริมให้เรื่องหลักให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น เราอาจสรุปได้ว่าอุปมานิทัศน์ตามแบบวรรณคดีอังกฤษซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียก "อุปมานิทัศน์" มีลักษณะ ดังนี้
๑.เป็นเรื่องราวหรือเรื่องเล่า
๒.อุปมานิทัศน์ต้องใช้องค์ประกอบต่างๆ เช่น เหตุการณ์ ตัวละครและฉากเป็นสัญลักษณ์
๓.อุปมานิทัศน์ต้องสื่อความหมายได้ ๒ นัย คือ ระดับพื้นผิวและระดับลึก
๔.อุปมานิทัศน์มีจุดมุ่งหมายเพื่อสั่งสอนศีลธรรม ศาสนาหรือถ่ายทอดแนวคิดทางการเมือง
(อ่านต่อคราวหน้า)