วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2551

ธรรมาธรรมะสงคราม: วรรณคดีอุปนิทัศน์ตามแบบวรรณคดีอังกฤษเรื่องแรกของไทย 2




เนื้อเรื่องธรรมาธรรมะสงคราม
ธรรมาธรรมะสงครามเป็นเรื่องสงครามระหว่างเทวดา ๒ ตน คือธรรมเทวบุตรและอธรรมเทวบุตร
เรื่องเกิดขึ้น ณ วันเพ็ญที่เป็นวันอุโบสถ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๕๔๐: ๔๔) เมื่อธรรมเทวบุตรซึ่งเป็นตัวละครเอก (Protagonist) เสด็จประพาสโลกมนุษย์เพื่อสั่งสอนธรรมะ ขณะเดียวกันอธรรมะเทวบุตรซึ่งเป็นตัวละครปรปักษ์ (Antagonist) ได้เสด็จสู่โลกเพื่อชักชวน ข่มขู่ให้มนุษย์ทำชั่วเช่นกัน ทั้งสองบังเอิญพบกัน อธรรมเทวบุตรใช้กำลังความรุนแรงบังคับให้ธรรมเทวบุตรหลีกทางให้ แต่เทวบุตรไม่ยอมจึงเกิดการต่อสู้กันเป็นสามารถ แม้อธรรมเทวบุตรจะมีกำลังมากและเป็นฝ่ายได้เปรียบแต่ท้ายที่สุดอธรรมเทวบุตรก็หน้ามืดตกจากรถทรงลงสู่พื้นดินและเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ธรรมเทวบุตรจึงให้โอวาทและประทานพรแก่มนุษย์โลกก่อนกลับสู่สรวงสวรรค์


ธรรมาธรรมะสงครามมีลักษณะเป็นอุปมานิทัศน์
ตามที่สรุปไว้ข้างต้นว่าอุปมานิทัศน์ควรมีลักษณะ ๔ ประการและธรรมาธรรมะสงครามก็มีลักษณะเหล่านั้นประกอบอยู่ครบถ้วน
ประการแรกธรรมาธรรมะสงครามเป็นเรื่องเล่า (Narrative) อันประกอบด้วยตัวละคร (character) ฉาก (setting) และเหตุการณ์ (events)
ประการที่สององค์ประกอบต่างๆในธรรมาธรรมะสงครามล้วนเป็นสัญลักษณ์ คือ ธรรมเทวบุตรเป็นสัญลักษณ์ของความดี เพราะธรรมะหมายถึงคุณความดี ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของธรรมเทวบุตร ดังที่กล่าวไว้ว่า“....ปองธรรมะบ่ล่วง ลุอำนาจอกุศล....” และ “….ทรงเครื่องก็ล้วนขาว สวิภูษณาสม/สำแดงสุโรดม สุจริต ณ ไตรทวาร....” ส่วนอธรรมเทวบุตรก็เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วเพราะในภาษาบาลี-สันสฤต “อ” เป็นคำเติมหน้า หมายถึง ไม่ หรือไม่มี ดังนั้นเมื่อนำ “อ” มาประกอบกับ “ธรรม” แปลว่า ไร้ซึ่งคุณความดีก็คือความชั่วซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของอธรรมะเทวบุตรที่ว่า “ปางนั้นอธรรมะ เทวบุตรผู้ใจพาล” และ “….ล้วนแต่พาลประดุจกัน/ โทโสและโมหันธ์ บ่มิพึงบำเพ็ญบุญ/ เห็นใครน้ำใจซื่อ สุจริตะการุญ/ เธอก็มักหันหุนเพราะพิโรธและริษยา” เทวดาทั้งสองนี้เดินทางมาสู่ชมพูทวีปและพบกับมนุษย์ ชมพูทวีปในที่นี้น่าจะหมายถึงโลกทั้งโลกมากกว่าดินแดนแถบเอเชียใต้ดังที่เข้าใจกันในปัจจุบันเพราะใบตัวบทบางตอนก็เรียกชมพูทวีปว่า “โลก” และจากไตรภูมิกถา ภาคมนุสสภูมิเราจะพบว่าทางพระพุทธศาสนาเชื่อเรื่องทวีปทั้ง ๔ ได้แก่ อุตรกุรุทวีปหรืออุตรกุรูทวีป บุพวิเทหทวีป ชมพูทวีป และอมรโคยานทวีป และชมพูทวีปก็คือโลกที่เราอาศัยอยู่นี้เอง ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าชมพูทวีปคือโลกมนุษย์ส่วนมนุษย์ที่เทวบุตรทั้งสองพบนั้นก็คือตัวแทนของมวลมนุษยชาติทั้งหมด โดยอ้างอิงจากข้อความที่ว่า “กษัตริย์พราหมณ์แพศย์ศูทรทั้งหลาย ต่างมาเรียงราย/ ระยอบบังคมเทวัญ” ตามคติพราหมณ์ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อของคนในแถบเอเชียใต้แต่โบราณ มนุษย์มีอยู่ ๔ วรรณะคือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์และศูทร ดังนั้นมนุษย์ที่อยู่ในเรื่องก็คือตัวแทนของมนุษย์วรรณะต่างๆนั่นเอง
ด้วยเหตุที่องค์ประกอบต่างๆในธรรมาธรรมะสงครามเป็นสัญลักษณ์ จึงทำให้ผู้อ่านตีความได้ ๒ นัย คือ ระดับพื้นผิวและระดับลึกซึ่งเป็นลักษณะข้อที่ ๓ ของอุปมานิทัศน์ ในระดับพื้นผิว ธรรมาธรรมสงครามเป็นเรื่องราวการต่อสู่ของเทวดา ๒ ตน ตนหนึ่งเป็นพระเอก อีกตนหนึ่งเป็นตัวโกง สุดท้ายพระเอกชนะตัวโกงได้อย่างหวุดหวิดและให้โอวาทประสาทพรก่อนจะกลับสวรรค์ แต่ในระคับลึกเราอาจตีความได้ว่าความดีกับความชั่วที่มีอำนาจพอกันเนื่องจากทั้งสองเป็นเทวดาในชั้นกามาพจรเหมือนกัน สามารถเข้ามาสู่โลกและเข้ามาถึงตัวมนุษย์ได้ทั้งคู่โลกของเราจึงมีทั้งความดีและความชั่วปะปนกันอยู่ เราซึ่งเป็นมนุษย์จึงต้องเลือกที่จะเชื่อฟังธรรมเทวบุตรหรืออธรรมะเทวบุตรอย่างไรก็ดรเรื่องพยายามชี้นำให้เราเข้ารีตของธรรมเทวบุตร ให้เราต่อสู้กับความชั่วอย่าได้ยอมให้แก่ความชั่ว แม้ความชั่วนั้นจะน่ากลัวหรือให้กำลังขู่เข็ญเช่นที่ธรรมเทวบุตรไม่ยอมให้ทางแก่อธรรมะเทวบุตร เพราะท้ายที่สุดแม้อธรรมะเทวบุตรจะเป็นฝ่ายได้เปรียบคือคนชั่วอาจมีอำนาจเหนือกว่าคนดีในบางครั้ง ก็ต้องพ่ายแพ้ย่อยยับด้วยอำนาจแห่งกรรมนั่นเอง อนึ่งการสั่งสอนให้เป็นคนดีผ่านสารที่ว่า “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” และ “ธรรมะและอธรรมย่อมให้ผลที่ต่างกัน” สามารถเชื่อมโยงกับลักษณะของอุปมานิทัศน์ข้อ ๔ คือเป็นการสั่งสอนศีลธรรมจรรยาหรือศาสนาได้อีกด้วย
ด้วยองค์ประกอบทั้ง ๔ นี้ทำให้ธรรมาธรรมะสงครามเป็นวรรณคดีอุปมานิทัศน์อย่างชัดเจน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสอนอะไรผ่านธรรมาธรรมะสงคราม
แม้ว่าธรรมาธรรมะสงครามจะสื่อความได้ 2 นัยแต่ไม่ว่าจะตีความในระดับพื้นผิวหรือระดับลึก ธรรมาธรรมะสงครามก็สามารถนำไปสู่คำสอนที่เหมือนกัน คำสอนเหล่านี้เป็นคำสอนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระทัยที่จะสั่งสอนผู้อ่าน
ในธรรมาธรรมะสงครามพระผู้ทรงพระราชนิพนธ์ได้แสดงภาพลักษณ์ของคนดีผ่านธรรมเทวบุตรและคนชั่วผ่านธรรมะเทวบุตรอย่างชัดเจน
ลักษณะของคนดีจากลักษณะของธรรมเทวบุตร
๑. เป็นผู้ใฝ่ธรรมและไม่ทำชั่วดังที่ว่า “ครองทิพยพิมาน บริวารือมรปวง/ ปองธรรมบ่ล่วง ลุอำนาจอกุศล”
๒.เป็มผู้มีความเมตตา กรุณาและปรานี ดังที่ว่า “เมตตาการุญรัก ษพิทักษ์ภูวดล/ ปรานีนิกรชน ดุจดั่งปิโยรส”
๓.จากข้อความที่ว่า “ทรงเครื่องก็ล้วนขาว สวิภูษณาสม/ สำแดงสุโรดม สุจริต ณ ไตรทวาร” จะเห็นว่าธรรมเทวบุตรทรงเครื่องสีขาว สีขาว น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของความดีและความบริสุทธิ์ เมื่อพิจารณาคู่กับข้อความที่ว่า “สุจริต ณ ไตรทวาร” ซึ่งหมายถึงประพฤติชอบทั้งกาย วาจาและใจก็จะตีความได้ว่า ความดีทั้งสามทางนั้นเป็นภูษาที่ห่อหุ้มเทวบุตรนั้นไว้
ลักษณะของคนชั่วจากลักษณะของอธรรมะเทวบุตร
เป็นผู้มีโทสจริต
เป็นผู้มีโมหะจริต
ไม่ใฝ่ธรรม
มีใจพาลดังที่กล่าวว่า “ปางนั้นอธรรมะ เทวบุตรผู้ใจพาล” หรือจากที่ว่า “เห็นใครน้ำใจซื่อ สุจริตะการุญ/ เธอมักจะหันหุน เพราะพิโรธและริษยา”
นอกจากลักษณะของเทวบุตรทั้งสองแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังแสดงโอวาทผ่านปากของเทวบุตรทั้งสองดังนี้
ธรรมะจากปากธรรมเทวบุตร
“ดูก่อนนิกรชน อกุศลบทกรรม
ทั้งสิบประการจำ และละเว้นอย่าเห็นดี
การฆ่าประดาสัตว์ ฤประโยชน์บ่พึงมี
อันว่าดวงชีวี ย่อมเป็นสิ่งที่ควรถนอม
ถือเอาซึ่งทรัพย์สิน อันเจ้าของมิยินยอมเ
ขานั้นเสียดายย่อม จิตตะขึ้งเป็นหนักหนา
การล่วงประเวณี ณ บุตรและภรรยา
ของชายผู้อื่นลา- มกกิจบ่บังควร
กล่าวปดและลดเลี้ยว พจนามิรู้สงวน
ย่อมจะเป็นสิ่งควร นรชังเป็นพ้นไป
ส่อเสียดเพราะเกลียดชัง บ่มิยังประโยชน์ใด
เสื่อมยศและลดไม- ตรีระหว่างคณาสลาย
พูดหยาบกระทบคน ก็ต้องทนซึ่งหยาบคาย
เจรจากับเขาร้าย ฤ ว่าเขาจะตอบดี
พูดจาที่เพ้อเจ้อ วจะสาระบ่มี
ทำตนให้เป็นที่ นรชนเขานินทา
มุ่งใจและไฝ่ทรัพย์ ยะด้วยโลภเจตนา
ทำให้ผู้อื่นพา กันตำหนิมิรู้หาย
อีกความพยาบาท มนะมุ่งจำนงร้าย
ก่อเวรบ่รู้วาย ฤจะพ้นซึ่งเวรา
เชื่อผิดและเห็นผิด สิจะนิจจะเสื่อมพา
เศร้าหมองมิผ่องผา สุกะรื่นฤดีสบาย
ละสิ่งอกุศล สิกมลจะพึงหมาย
เหมาะยิ่งทั้งหญิงชาย สุจริต ณ ไตรทวาร
จงมุ่งบำเพ็ญมา ตุปิตุปัฏฐานการ
บำรุงบิดามาร- ดรให้เสวยสุข
ใครทำฉะนี้ไซร้ ก็จะได้นิราศทุกข์
เนานานสราญสุข และจะได้คระไลสวรรค์
ยศใหญ่จักมาถึง กิตติพึงจักตามทัน
เป็นนิจจะนิรัน- ดรย่อมจะหรรษาฯ”
จากข้อความที่ยกมาสรุปเป็นคำสอนได้ดังนี้
ไม่ควรฆ่าสัตว์ทั้งหลาย
ไม่ควรเอาของคนอื่นมาเป็นของตน
ไม่ควรกระทำผิดต่อลูกและภรรยาผู้อื่น
ไม่ควรพูดปด
ไม่ควรพูดส่อเสียด
ไม่ควรพูดคำหยาบ กระทบกระเทียบผู้อื่น
ไม่ควรพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ
ไม่ควรโลภในทรัพย์สินของผู้อื่น
ควรละความพยาบาท
เชื่อและเห็นในสิ่งที่ชอบที่ควร
ควรละสิ่งชั่วทั้งกาย วาจาและใจ
ควรบำรุงดูแลบิดามารดา
หลังจากให้โอวาทแล้วธรรมเทวบุตรยังเสนอผลดีอันเกิดจากการปฏิบัติตามโอวาทที่กล่าวมาแล้ว ดังนี้
จะหมดทุกข์
จะมีความสุขสำราญ
จะได้ขึ้นสวรรค์
จะมียศมีเกียรติ
จะมีความสุขอยู่เป็นนิรันดร
อธรรมะจากปากอธรรมะเทวบุตร
“ดูราประชาราษฎร์ นรชาตินิกรชน
จงนึกถึงฐานตน ว่าตกต่ำอยู่ปานใด
ไม่สู้อมรแมน ฤ ว่าแม้นปีศาจได้
ฝูงสัตว์ ณ กลางไพร ก็ยังเก่งกว่าฝูงคน
ทั้งนี้เพราะขี้ขลาด บ่มิอาจจะช่วยตน
ต่างมัวแต่กลัวชน จะตำหนิและนินทา
ผู้ใฝ่ซึ่งอำนาจ ก็ต้องอาจและหาญกล้า
ใครขวาง ณ มรรคา ก็ต้องปองประหารพลัน
อยากมี ณ ทรัพย์สิ่ง จะมานิ่งอยู่เฉย
ฉะนั้นเมื่อใดจะได้ทัน- มนะมุ่งและปราถนา
กำลังอยู่กับใคร สิก็ใช้กำลังคร่า
ใครอ่อนก้ปรา- ชิตะแน่มิสงสัย
สตรีผู้มีโฉม ศุภลักษณาไซร้
ควรถือว่ามีไว้ เป็นสมบัติ ณ กลางเมือง
ใครเขลาควรเอาเปรียบ และมุสาประดิษฐ์เรื่อง
ลวงล่อบ่ต้องเปลือง ธนะหากำไรงาม
เมื่อเห็นซึ่งโอกาส ผู้ฉลาดพยายาม
ส่อเสียดและใส่ความ และประโยชน์ ณ ถึงตน
ใครท้วงและทักว่า ก็จงด่าให้เสียงอึงเ
ขานั้นสิแน่จึ่ง จะขยาดและกลัวเรา
พูดเล่นไม่เป็นสา- ระสำหรับจะแก้เหงา
กระทบกระเทียบเขา ก็สนุกสนานดี
ใครจนจะทนยาก และลำบากอยู่ใยมี
คิดปองซึ่งของดี ณ ผู้อื่นอันเก็บงำ
ใครทำให้ขัดใจ สิก็ควรจะจดจำ
ไว้หาโอกาสทำ ทุษะบ้างเพื่อสาใจ
คำสอนของอาจารย์ ก็บุราณะเกินสมัย
จะนั่งไยดีไย จ งประพฤติตามจิตดู
บิดรและมารดา ก็ชราหนักหนาอยู่
เลี้ยงไว้ทำไมดู นับจะเปลืองมิควรการ
เขาให้กำเนิดเรา ก็มิใช่เช่นให้ทาน
กฎธรรมดาท่าน ว่าเป็นของไม่อัศจรรย์
มามัวแต่กลัวบาป ก็จะอยู่ทำไมกัน
อยากสุขสนุกนัน- ทิก็ต้องดำริแสวง
ใครมีกำลังอ่อน ก็ต้องแพ้ผู้มีแรง
ใครเดชะสำแดง ก็จะสมอารมณ์ปอง”
จากข้อความที่ยกมา จะเห็นโอวาทของอธรรมะเทวบุตร ดังนี้
จงอย่ากลัวคำตำหนิและนินทา
จงใช้กำลังเพื่อให้ได้ซึ่งอำนาจ
จงใช้กำลังทำลายคนที่อ่อนแอกว่า
จงถือว่าหญิงงามเป็นสมบัติร่วมของสาธารณชน
จงฉ้อโกงเอาเปรียบและพูดปดเพื่อให้ได้ผลประโยชน์
จงพูดส่อเสียดและใส่ความคนอื่นเพื่อประโยชน์ส่วนตน
จงถือความคิดของตนเป็นใหญ่และอย่าได้รับฟังความคิดผู้อื่น
จงใฝ่ทรัพย์ของผู้อื่น
จงมีจิตผูกพยาบาท
อย่าเชื่อฟังคำสอนของครูอาจารย์เพราะคำสอนนั้นเป็นสิ่งล้าสมัย จงทำสิ่งต่างๆตามอำเภอใจ
ไม่ควรเลี้ยงดูบิดามารดา
อย่ากลัวบาปกรรม
ท้ายที่สุดอธรรมเทวบุตรก็ยังโฆษณาให้มนุษย์ไม่ต้องเกรงกลัวบาปและให้ใช้กำลังความรุนแรงข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่าแล้วจะสมความปรารถนา
เทวดาทั้งสองต่างก็เสนอแนวทางปฏิบัติตามแบบของตนและเสนอผลดีจากการ”เข้ารีต”ของตนซึ่งป็นสารที่นำเสอนในเนื้อหาโดยตรงแต่สุดท้าย ผู้อ่านก็ได้เรียนรู้จากชะตากรรมของอธรรมะเทวบุตรซึ่งเป็นสารที่สื่อโดยนัยว่า “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” ในที่สุดและความดีกับความชั่วย่อมให้ผลที่ต่างกัน ความดีย่อมให้ศิริและชัยชนะ ขณะที่อธรรมย่อมนำไปสู่ความปราชัย พินาศย่อยยับ
ปัจฉิมบท
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ วงวรรณกรรมไทยเฟื่องฟูมากและเกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นมากเช่นกัน เช่น นวนิยายเรื่องแรกคือ ความพยาบาทและเรื่องสั้นเรื่องแรกคือ สนุกนึกดิ์ เป็นต้น
ธรรมาธรรมะสงครามก็เป็นวรรณกรรมอุปมานิทัศน์ที่สอดคล้องกับบทละคร Allegory ของอังกฤษที่มีขึ้นในสมัยนี้
อนึ่งจากการศึกษาบทพระราชนิพนธ์อื่นๆประกอบพบว่าการสั่งสอนใจและให้โอวาทเป็นลักษณะร่วมของบทพระราชนิพนธ์ทุกเรื่อง และจากพระราชอรรถาธิบายในคำนำที่ว่า
“ข้าพเจ้าหวังใจว่าหลักธรรมอันประกอบเรื่องธรรมาธรรมะสงครามนี้จะพอเป็นเครื่องเตือนใจผู้ใฝ่ดีให้รำพึงถึงพุทธะภาษิตว่า:-
“น หิ ธมฺโม อธมฺโม จ อุโภ สพวิภาคิโน
อธมฺโม นิรยํ เนติ ธมฺโม ปาเปติสุคติ”
ธรรมกับอธรรมให้ผลหาเสมอกันไม่ว อธรรมย่อมจะนำชนไปสู่นรก, แต่ธรรมย่อมจักนำชนให้ข้ามพ้นบาปไปสู่สุคติ”
ธรรมาธรรมะสงครามจึงช่วยเน้นย้ำถึงพระราชเจตนารมณ์ที่จะทรงอบรมสั่งสอนพสกนิกรของพระองค์ ผ่านบทพระราชนิพนธ์ต่างๆทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรองเพื่อให้ประชาชนเป็นคนดี มีคุณธรรมเพื่อความสุขสวัสดิ์ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคมรวมถึงประเทศชาติต่อไป


หนังสืออ้างอิง
"นิทานเวตาล." วิกิพีเดีย, สารานุกรมเสรี. 14 พ.ค. 2007, 21:38 UTC. 29 ก.พ. 2008, 00:51 <http://th.wikipedia.org/w/index.php?title=นิทานเวตาล&oldid=554051>.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ.บทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เรื่อง ธรรมาธรรมะสงคราม มัทนะพาธา และท้าวแสนปม.สงขลา: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, ๒๕๔๐.
ราชบัณฑิตยสถาน.พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.กรุงเทพมหานคร: อรุณการพิมพ์, ๒๕๔๕.
ศิลปากร,กรม.นางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์.พิมพ์ครั้งที่ 14. พระนคร: ศิลปาบรรณาคาร, 2513
Macmillan English dictionary for advanced learners. Oxford: Macmillan Education,2002
Stephen, Martin.English literature : student guide/Martin Stephen.2nd ed.London ; New York: Longman,1991

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ภาพสวยมากค่ะ เนื้อหาวรรณคดีดีมาก แต่ค่อนข้างหนักจังเลยนะ ซึ่งถ้าเขียนบ่อยๆ อาจจะค่อยๆ ผ่อนกำลังภายใน แล้วจะแวะเวียนเข้ามาชมเรื่อยๆ นะคะ